พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี เป็นพระเครื่องตัวแทนยุค อู่ทอง-สุพรรณภูมิ พุทธคุณเน้นด้านเมตตาบารมี การเป็นผู้นำ น่าเกรงขาม คงกระพัน การมีโชค โภคทรัพย์ ความมีเสน่ห์ ขจัดทุกข์ ความสงบ หนักแน่น คือ 1 ใน 5 พระเบญจภาคี อันลือชื่อของเมืองไทย สุดยอดปรารถนาของนักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย จากค่านิยมกันในหลักพันบาท และทะยานเข้าสู่หลักหลายสิบล้านในปัจจุบันนี้
พระผงสุพรรณ เป็นที่เลื่องชื่อลือชาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ซึ่งปรากฏในจารึกลานทองที่ได้จากกรุและถูกคัดลอกออกเป็น ๖ สำเนา กล่าวถึงกรรมวิธีการสร้าง และ "อุปเท่ห์" อันหมายถึงวิธีการอาราธนาองค์พระเพื่อให้ท่านช่วยเหลือในสถานการณ์ต่างๆ เช่น แม้อันตรายสักเท่าใดก็ดีให้นิมนต์พระใส่ไว้บนศีรษะหรืออาราธนาผูกไว้ที่คอ อันตรายทั้งปวงหายสิ้น แล ถ้าจะเข้าการรณรงค์สงคราม ให้เอาพระสรงน้ำมันหอม เสกด้วยนวหรคุณ แล้วเอาน้ำมันหอมมาใส่ผม ไปได้สำเร็จความปรารถนาแล
พระผงสุพรรณ ที่นับเป็นพระยอดนิยมจะเป็น "พระเนื้อดินเผา" ซึ่งเป็นดินของ จ.สุพรรณบุรี ที่ค่อนข้างละเอียดเป็นมวลสารหลัก ผสมกับว่านและเกสรดอกไม้มงคล โดยวิธีการนำหัวว่านมาคั้นเอาแต่น้ำมาผสม เมื่อผ่านกรรมวิธีการเผาผิวขององค์พระจึงไม่เป็นโพรงเนื้อจะดูชุ่มฉ่ำ วงการพระเรียก "หนึกนุ่มซึ้งจัด" อีกทั้งกรรมวิธีการเผามีการควบคุมอุณหภูมิความร้อนให้สม่ำเสมอ ทำให้เนื้อขององค์พระมีสภาพแข็งแกร่งไม่เปราะหักง่ายเหมือนพระเนื้อดินเผาอื่นๆ
ลักษณะการตัดขอบก็ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนและไม่พิถีพิถัน บางองค์เป็นเหลี่ยมสี่ด้านบ้าง ห้าด้านบ้าง ตัดปีกกว้างบ้าง ฯลฯ ลักษณะพิเศษอีกประการ คือ "รอยนิ้วมือ" ที่ด้านหลังขององค์พระเป็นลักษณะของนิ้วคนโบราณ และมีเส้นลายนิ้วมือเป็นแบบก้นหอย
นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นพระที่บรรจุในกรุ และผ่านกาลเวลายาวนาน จึงมี "คราบดินกรุ" ติดอยู่ทั่วบริเวณองค์พระและตามซอกต่างๆ เรียกว่า "นวลดิน" ซึ่งเกาะติดแน่นแทบกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับผิว โดยเฉพาะพระที่ไม่ได้ผ่านการใช้จะปรากฏชัดเจน นับเป็นเอกลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่ง
พระผงสุพรรณ จะเป็นพระที่มีขนาดเล็ก พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนฐานเขียงชั้นเดียว พระเกศคล้ายฝาละมี มีกระจังหน้า พระพักตร์เคร่งขรึม พระนาสิกหนาใหญ่ พระอุระหนา พระกรทอดเรียว ที่เน้นความละม้ายคล้ายคลึงมนุษย์แบบศิลปะสกุลช่างอู่ทอง ลักษณะการแบ่งจำแนกพิมพ์และการเรียกชื่อก็เหมือนกับพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง คือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม