นอกจาก พระสมเด็จ วัดระฆังแล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ยังมีพระเครื่อง อีกหนึ่งกรุพระเครื่องอันทรงคุณค่าคือ พระสมเด็จ วัดบางขุนพรหม โดยไม่ว่าจะเป็นพระกรุใหม่หรือพระกรุเก่าก็เป็นพระที่สร้างในคราวเดียวกัน ซึ่งจะเป็นพระกรุเก่าหรือกรุใหม่ดูได้จากผิวของพระนั้นจะแตกต่างกัน เพราะสภาพพระที่อยู่ในกรุแล้วขึ้นออกมาจากกรุต่างเวลากัน จึงทำให้ผิวของพระมีสภาพต่างกัน อาทิ พระสมเด็จกรุวัดบางขุนพรหมนี้ พระที่เราเรียกว่าพระกรุเก่านั้น เป็นพระที่ได้จากการตกพระ คืออย่างนี้ครับในสมัยที่หลังจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ท่านได้สิ้นไปแล้วประมาณปี พ.ศ.2416 ได้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ เหตุการณ์ในครั้งนั้นเรียกกันว่า ปีระกาป่วงใหญ่ คือโรคอหิวาต์ ระบาดนั่นเอง
ยุคนั้นยาฝรั่งหายากและมีราคาแพง ชาวบ้านก็ต้องพึ่งยาไทย ยาแผนโบราณ หายบ้างไม่หายบ้างตามยถากรรม ชาวบ้านระแวกคลองบางกอกน้อยที่เคยได้รับพระสมเด็จจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็นึกถึงบารมีของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ และนำพระมาแช่น้ำมนต์อธิษฐานขอให้หายป่วยจากโรคภัย แล้วจึงนำน้ำมนต์มาดื่มกิน ปรากฏว่าอาการป่วยทุเลาเบาบางลงและหายในที่สุด จึงเกิดคำเล่าลือกันไปทั่ว ใครที่มีพระสมเด็จฯ อยู่ก็ต่างนำพระมาทำน้ำมนต์กิน หายป่วยหายไข้กันทั่วหน้า
จากเรื่องดังกล่าวมานี้จึงทำให้มีการ เสาะหาพระสมเด็จฯ กันมากในสมัยนั้น และเริ่มมีสนนราคาขึ้นมา แต่ก็ค่อนข้างหายาก ต่างคนก็ต่างหวงแหน ต่อมาก็รู้กันว่า พระของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้มีการบรรจุไว้ในพระเจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหม จึงคิดหาวิธีที่จะนำพระออกมาจากกรุ ชาวบ้านได้หาวิธีได้โดยการตกพระกัน ที่องค์พระเจดีย์ใหญ่ วัดบางขุนพรหม ที่เรียกว่าการตกนั้นคือที่องค์พระเจดีย์จะมีรูช่องระบายอากาศของกรุ ชาวบ้าน ก็ปีนขึ้นไป แล้วเขานำเอาเชือกที่มีความยาวคะเนพอให้ถึงพื้น ปลายเชือกด้านหนึ่งทำเป็นปมไว้ แล้วหาดินเหนียวที่นวดให้นิ่มพอดี หรือบางรายนำยางไม้มาพอกไว้ที่ปลายเชือก เพื่อที่เวลาหย่อนเชือกลงไปแล้วจะได้ไปติดองค์พระขึ้นมา บางครั้งก็ได้พระ บางครั้งก็ไม่ได้พระหรือติดเอาพระหัก ขึ้นมาบ้างก็มี บางคนหัวดีก็นำเอาไม้ไผ่มาทะลวงปล่องออกทำให้เหมือนท่อน้ำ แล้วเอาเชือกสอดลงไป เพื่อจะได้มีช่วงที่จะให้เชือกลงไปได้รัศมีที่ดีกว่า และตกพระกันเรื่อยมาอยู่หลายปี
กระทั่งระยะหลังๆ ชักจะตกกันไม่ค่อยได้เนื่องจากพระชักจะงวดลง และทางวัดก็ได้สั่งห้ามตกพระอีกต่อไป ในการตกพระในสมัยนั้นผู้ที่อยากได้พระมาคอยเช่าพระจากคนตกพระอยู่ทุกวัน พระที่ได้ในสมัยนั้นจะไม่ค่อยมีขี้กรุจับองค์พระ เพราะยังบรรจุได้ไม่กี่ปี ผิวพรรณเนื้อหาคล้ายสมเด็จฯ ที่ได้จากวัดระฆังฯ พระเหล่านี้เรียกกันว่าพระกรุเก่า
ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2485 น้ำท่วม สูงมาก เรียกว่านำเรือมาพายกันเลยทีเดียว แถวไหนเป็นที่ต่ำก็ท่วมถึงเอว ที่บริเวณลานพระรูปทรงม้าพายเรือกันได้น้ำท่วมเกือบถึงเอว แถวบางขุนพรหมก็เช่นกัน ดังนั้นกรุพระที่วัดบางขุนพรหมก็ถูกน้ำท่วมไปด้วย ประมาณว่าน้ำสูงเคียงเอว พระที่อยู่ในกรุก็พลอยถูกน้ำท่วมไปด้วย ขี้ดินในกรุและ เศษวัสดุที่ใช้ในการตกพระก็ละลายพอกทับองค์พระสมเด็จฯ ไปด้วย
ภายหลังได้มีการขโมยขุดกรุวัดบางขุนพรหมกันอีกหลายหน จนทางวัดต้องเปิดกรุเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2500 พระที่ได้หลังจากปีน้ำท่วมกรุงนี้ ผิวพรรณจะมีขี้กรุจับหนาเป็นส่วนใหญ่ มีบางองค์ที่มีขี้กรุบางๆ ก็มี เพราะองค์อยู่สูงกว่าระดับน้ำ ขี้กรุของพระกรุใหม่นั้นจะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลค่อนข้างเข้ม และมีดินกรุติดเป็นสีเทานวลๆ เนื้อพระก็จะมีสีซีดกว่าพระกรุเก่า และเกิดคราบฟองเต้าหู้จับที่องค์พระมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่องค์พระ ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระถูกแช่น้ำในครั้งน้ำท่วมนั่นเอง ตัวขี้กรุที่มีสีน้ำตาลจับที่พื้นผิวพระจะมีลักษณะจับแน่นแข็งตัว ลอกออกได้ยากมาก ต้องอาศัยผู้มีฝีมือจริงๆ เท่านั้นจึงทำได้ พระที่ได้ ภายหลังน้ำท่วมนี้เรียกว่าพระกรุใหม่ รวมทั้งพระที่ขึ้นในปี พ.ศ.2500 ที่ทางวัดเปิดกรุด้วย พระในส่วนที่เปิดกรุในปี พ.ศ.2500 นั้นทางวัดจะประทับตรายางของวัด ที่ด้านหลังองค์พระ
ทั้งนี้ เรื่องราวและรายละเอียดพระเครื่องของ สมเด็จพระพุฒาจารย์โตพรหมรังสี ยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับพระสมเด็จองค์ครู หาชมยากมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ท่านใดสนใจศึกษาอย่างละเอียด สามารถติดตามได้ใน หนังสือ มรดกพรหมรังสี พระสมเด็จ 3มิติ มรดกล้ำค่าวงการพระสมเด็จ https://goo.gl/LEYhUi
สนใจจองหนังสือ ติดต่อ
โทร 089-789-3777
หรือ Inbox : m.me/worldamulet3d
Line ID : http://line.me/ti/p/~@worldamulet3d