เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน คือ เสือ ที่จัดสร้างโดยพระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ หรือหลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส หรือที่นิยมเรียกว่า หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ตั้งอยู่ที่ ต.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ ที่เรียกกันมาแต่โบราณว่าวัดบางเหี้ยนั้น เนื่องจากเดิมมีตัวเงินตัวทองอยู่มาก เพราะเป็นเขตน้ำกร่อย ปัจจุบันมีพระครูมงคลพิพัฒนคุณ เป็นเจ้าอาวาส
เขี้ยวเสือของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จะต้องทำจากเขี้ยวเสืออย่างเดียวเท่านั้น จะไม่ใช้เขี้ยวชนิดอื่นๆ จะมีทั้งเต็มเขี้ยวและเขี้ยวซีก มีคุณสมบัติทึบแสง เขี้ยวเสือต้องกลวง เขี้ยวเสือกลวงจะมีอำนาจ ในตัวมาก บางท่านเรียกเขี้ยวโปร่งฟ้า เป็นเขี้ยวของพญาเสือโคร่ง มีอำนาจมาก มีตบะมาก แค่จ้องสัตว์อื่น สัตว์อื่นจะเหมือนถูกตรึงอยู่กับที่
ความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารของหลวงพ่อนั้น เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป เป็นพระอาจารย์ที่มีญาณแก่กล้าชื่อเสียงโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ ๕ เครื่องรางของขลังของท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธามาก และสืบเสาะหากันจนทุกวันนี้ ท่านคร่ำเคร่งทางวิปัสสนามากและธุดงค์อยู่เสมอ ด้วยคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่งของหลวงพ่อที่ประกอบขึ้นไว้ แต่ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ราษฎรในตำบลใกล้เคียง กระทั่งต่างอำเภอและต่างจังหวัด พากันเคารพนับถือและรำลึกถึงหลวงพ่ออย่างไม่เสื่อมคลาย
ส่วนกิตติศัพท์เรื่อง “เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน” นั้น เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว อาทิ เมื่อครั้งมีการสร้างเขื่อนพระยาไชยานุชิต ที่คลองด่าน เพื่อกั้นกระแสน้ำทะเลไม่ให้ท่วมเรือกสวนไร่นาชาวบ้าน แต่กรมชลประทานไม่สามารถก่อสร้างได้สำเร็จสักที เพราะกระแสน้ำแรงมากและตีขึ้นมาตลอด หลวงพ่อปานเห็นแก่การขจัดความเดือดร้อนของผู้คน จึงทำการเสกเขี้ยวเสือขว้างลงไป ปรากฏว่ากระแสน้ำลดกำลังลงอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถกั้นสร้างเขื่อนได้สำเร็จ
“เขี้ยวเสือของหลวงพ่อปาน” นั้น แกะจากเขี้ยวเสือโคร่ง มีช่างที่แกะเสือแล้วเป็นศิษย์ท่านด้วยกัน ๕ คน แต่ละคนจะแกะไม่เหมือนกันซะทีเดียว และมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก นั่งปากเม้มหุบสนิท ตากลม ขาหน้าทั้งสองใหญ่ เล็บจิกลงบนพื้น ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็จะมีช่างแกะคอย เวลาหลวงพ่อปานไปธุดงค์ก็จะให้ปลุกเสก ประการสำคัญ ให้ดูรอยจารใต้ฐาน ท่านมักจะจารเองเป็น “นะขมวด” ที่เรียกกันว่า ‘ยันต์กอหญ้า’ และตัว ‘ฤ ฤา’
แล้วลงเหล็กจารด้วยตัวเองปลุกเสกโดยใส่ “‘พระคาถาหัวใจเสือโคร่ง” ลูกศิษย์ลูกหาได้ยินท่านท่องว่า พยัคโฆ พยัคฆา สูญญา สัพติ อิติ ฮัมฮิมฮึม “วิธีจาร” ของท่าน ท่านจะจารตัว “อุ” มีทั้งหางตั้งขึ้นและลงที่ขาหน้า ส่วนใต้ฐานท่านจะจาร “ยันต์กอหญ้า” ถ้าเสือตัวใหญ่หน่อยท่านจะลงยันต์กอหญ้า ๒ ตัว ตรงข้ามกัน และลงตัว ฤ ฤา พร้อมตัวอุณาโลม บางตัวมีรอยขีด ๒ เส้นขนานกัน
เอกลักษณ์ของเขี้ยวเสือของหลวงพ่อปาน ในปัจจุบันก็คือ เสือหน้าแมว หูหนู ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า ซึ่งมีทั้งเสือหุบปาก และเสืออ้าปาก เขี้ยวต้องกลวง มีทั้งแบบซีกและเต็มเขี้ยว เขี้ยวหนึ่งอาจแบ่งทำได้ถึง ๕ ตัว ตัวเล็กๆ เรียก “เสือสาริกา” เป็นปลายเขี้ยว ส่วนใหญ่พบว่าเป็นซีก คนโบราณนิยมเลี้ยงไว้ในตลับสีผึ้งทาปาก มีพุทธคุณครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางเมตตา แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี แต่ที่เด่นที่สุดคือมหาอำนาจ